เงินเก็บ 1 ล้านแรก เจ้าปัญหา
วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมอ่านทวิตเตอร์ เจอทวีตข้อความจากน้องคนหนึ่ง อายุ 27 ปี มีอาชีพเป็นนักกายภาพ น้องเล่าว่าเก็บเงินล้านแรกได้ ภายใน 5 ปี จากเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร
น้องเค้าทยอยเล่ารายละเอียดเป็น Thread ยาว 10 ชุดข้อความ และมี Thread หนึ่ง อ้างอิงถึงผมว่า
“พอจบมาทำงาน โชคดีที่ได้ที่ทำงานดี ก่อนได้เงินเดือนๆ แรก เขาให้ไปอบรมการเงินกับโค้ชหนุ่ม Money Coach (กราบขอบคุณที่ได้ไปฟัง ไม่งั้นคงไม่มีเราในวันนี้แน่)”
น้องเขาหยิบสิ่งที่ได้เรียนกับผมในวันนัั้น มาเป็นกฎเหล็กในการบริหารเงินของตัวเอง ดังนี้
- อย่าก่อหนี้จนกว่าจะอายุ 30 ปี
- ก่อนอายุ 30 ปี ทำงานเพื่อประสบการณ์ และหลังจากทำงานจนเชี่ยวชาญแล้ว ให้เริ่มต้นสร้างธุรกิจ
- ถ้าคิดจะเป็นหนี้ ต้องเป็นหนี้ที่สร้างกระแสเงินสดให้เพิ่มขึ้น
- ออมขั้นต่ำ 10% ของรายได้
- มีเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่าของรายได้ต่อเดือน
แต่ที่ผมชอบมากกว่า คือ วิธีการเก็บเงิน 1 ล้านบาท น้องเขาเขียนสรุปไว้ดังนี้ครับ
1. อย่าน้อยใจว่าจน เพราะมันไม่ช่วยอะไร การใฝ่สูงไม่ใช่เรื่องแย่ ผลดีจะตกแก่เราเอง
2. อย่ารู้แต่เก็บไงยังไง ให้รู้วิธีหาเงินด้วย มันจะช้ามากถ้าเราพยายามเก็บเงินจากรายได้ที่น้อย ถ้าคุณหารายได้เพิ่มเพื่อเก็บออม มันจะทำให้คุณออมได้มากกว่า 10-20% แน่ๆ
3. หาเงินยังไงให้ได้เยอะๆ มี 2 วิธี
3.1 คิดให้ออกว่าตัวเรามีมูลค่าอะไรบ้าง
3.2 อย่าเกี่ยงงานเด็ดขาด งานไหนเงินน้อยช่วงแรง อาจจะกลายเป็น Connecting dot ต่อยอดไปสู่งานรายได้สูงก็ได้
4. รู้จักตัวเองให้มากๆ มันช่วยเรื่องการเก็บเงินได้มากจริงๆ คือ เราจะรู้ว่าเรามีความสุขกับสิ่งไหน เวลาเจอสิ่งยั่วยุ จะได้ไม่หลงเพลินเสียเงินไปกับมัน
5. กดดันและให้รางวัลกับตัวเองบ้าง วัยรุ่นเป็นวัยที่มีไฟนะ มีพลังมากมาย เราควรเคี่ยวกรำตัวเองให้หนัก เพราะตื่นนอนมาก็หายเหนื่อย เพื่อตอนแก่จะได้ขี้เกียจให้สมใจ ระหว่างทางที่เก็บเงินก็หล่อเลี้ยงหัวใจตัวเองไปด้วย เพราะศึกนี้ยาวนาน เดี๋ยวจะตายเสียก่อน
พอได้อ่านข้อความทั้งหมด เห็นว่าน่าสนใจ ผมก็เลยรีทวีตต่อ เพื่อให้คนได้อ่านเรื่องราวดีๆ ของน้องคนนี้
ผ่านไปไม่ถึงชั่วโมง น้องส่งข้อความมาทัก ดีใจที่ผมเอาเรื่องของเขาไปแชร์ เราจบการสนทนาด้วยการที่ผมอวยพรให้น้องเค้ารักษาวินัย และเก็บเงินล้านที่ 2 ได้เร็วๆ
คิดว่าเรื่องจะจบเท่านั้น แต่ไม่ใช่เลย ...
หลังจากนั้นมีคนหยิบข้อความของน้องเค้าไปรีทวีตซ้ำอีกร่วม 60,000 ครั้ง (ประมาณแชร์ในเฟซบุ๊ก) กดไลค์กันไปอีก 40,000 เศษ ผมเลยตามไปอ่านข้อความ
ส่ิงหนึ่งที่รู้สึกคือ ถ้าเป็นคนติดตามโค้ชหนุ่มอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเข้าไปแสดงความยินดี เพราะเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยอยู่แล้ว (ลูกศิษย์โค้ชอายุไม่ถึง 30 ปี สะสมเงินล้านได้เยอะแยะ)
แต่ก็มีอีกกลุ่มเบ้อเริ่มที่แสดงความคิดเห็นไปในทางลบ ซึ่งหลังจากจัดหมวดหมู่แล้ว แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. ไม่เชื่อว่าคนเงินเดือน 15,000 จะเก็บเงินล้านได้
ประเด็นนี้น้องเค้าก็ออกมาอธิบายละเอียด เขาเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 ก็จริง แต่รับงานพิเศษดูแลทำกายภาพให้กับผู้ป่วยทางบ้าน ซึ่งได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 1,000 บาท คิดง่ายๆ ว่าสัปดาห์หนึ่งรับงานพิเศษ 6-8 ชั่วโมง ก็ตก 6,000-8,000 บาทต่อสัปดาห์ 24,000-32,000 บาทต่อเดือน มากกว่าเงินเดือนเสียด้วยซ้ำ (แต่ที่ยังทำงานประจำอยู่ เพราะมันคือแหล่งที่มาของงานพิเศษ)
แล้วถ้าทำหนึ่งปี จะมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้อย่างน้อยๆ 300,000 กว่าบาท แล้วน้องเค้าทำงานนี้มา 5 ปีแล้ว ตัวเลขก็ไม่เกินไปที่จะเก็บได้จริง
2. จะมีเงินล้านได้ ต้องลงทุน ทำงานเก็บเงินไม่มีทาง
อันนี้ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก การทำงานสร้างรายได้ได้เร็วกว่าผลตอบแทนการลงทุนอีกนะครับ ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีเงิน 10,000 เราเอาไปลงทุน ได้ผลตอบแทน 30% ต่อปี (ซึ่งสูงมากนะ) เราก็จะมีกำไรเท่ากับ 3,000 บาท
แต่กับอีกคนเอาเงินไปซื้อกระทะ ซื้อลูกชิ้นมาทอดขาย ทำน้ำจิ้มแซบๆ ขายไม่กี่วันก็ทำกำไร 3,000 บาทได้สบายๆ
3. หาข้ออ้างที่จะบอกว่า เราทำไม่ได้เหมือนเขา
กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่จะศึกษาเรื่องราวโดยละเอียด เพื่อหาข้ออ้างดีๆ ให้ตัวเองว่าทำไมเราเก็บเงินล้านไม่ได้ เช่น
- แค่อาชีพเรากับเค้าก็ต่างกันแล้ว อาชีพเราหารายได้เสริมไม่ได้
- ห้ามมีหนี้ก่อน 30 งั้นเหรอ! ผมจบมาก็มีหนี้ กยศ. แล้ว หมดสิทธิ์!
- รายได้กินใช้คนเดียวเลยหรือเปล่า ถ้าต้องให้พ่อแม่คงทำไม่ได้
- น่าจะต้องอยู่โรงพยาบาลดี ถึงได้ลูกค้ามีกำลัง
- ฯลฯ
สุดท้ายจากเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นต้องมาตอบคำถามคนโน้นคนนี้เต็มไปหมด และที่หนักไปกว่านั้น ผมเองก็โดนหางเลขไปด้วย เพราะมีคนตั้งข้อสงสัยว่า “หรือนี่เป็นแผนโฆษณาคอร์สไอ้โค้ชของมัน เขียนมาเล่า มาอวยกัน เพื่อสุดท้ายจะได้ขายคอร์ส“ 555
ว่ากันตามจริง เวลาที่หยิบเรื่องราวลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จทางการเงินมาเล่าให้สาธารณะฟัง ผมจะบอกเสมอว่า มันไม่ใช่ผลงานของเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นความสามารถของเจ้าของเรื่องเองล้วนๆ ความสามารถที่ว่านั้นประกอบด้วย
1. ความสามารถในการประยุกต์ความรู้การเงินไปใช้ให้เหมาะกับตัวเอง: เพราะผมก็พูดก็สอนเหมือนกันทุกวันกับทุกคน สุดแท้แต่ว่าใครจะหยิบจับไปใช้กับตัวเองอย่างไร
2. วินัยในการลงมืออย่างต่อเนื่อง: ฟังว่า 5 ปีเก็บสะสมเงินได้ 1 ล้าน เราอาจจะรู้สึกว่าไม่นาน แต่ผมกล้าพูดเลยว่า เจ้าของเรื่องไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นแน่ๆ เพราะเงินในกระเป๋าต้องผ่านการตัดสินใจทุกวัน
3. ความพยายามที่จะต้องก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง: แม้ว่าจะมีงานชั่วโมงละ 1,000 บาทรออยู่ แต่ไม่มีหรอกที่จะไม่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกขี้เกียจ แล้วอยากนอนดูซีรีย์อยู่บ้าน ดังนั้นต้องเคารพความพยายามของเจ้าของเรื่องด้วย
สิ้นวันน้องเขาส่งข้อความหาผมอีกครั้ง ขอโทษที่เรื่องราวกลายเป็นดรามาไป ผมตอบกลับไปว่า “ไม่เป็นไร ยังไงก็เงินเรา ใครเชื่อไม่เชื่อ ก็ไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้นหรือจนลง”
ในโลกที่ MINDSET ทางการเงินไม่ตรงกัน เถียงกันไปก็ใช่ว่าจะเกิดประโยชน์ คนที่เคยทำ เคยสู้ เคยผ่าน ยอมเชื่ออย่างหนึ่ง ส่วนคนที่เอาแต่มอง แต่เล็ง คอยหาเหตุผลที่ตนทำไม่ได้ ก็ย่อมเชื่ออีกอย่างหนึ่ง
เถียงกันไปก็เสียเวลาครับ
โค้ชหนุ่ม
02-01-2021
#Day3 #MoneyCoachDiary #เงินเก็บ1ล้านเจ้าปัญหา
ปล. ตามทวิตเตอร์โค้ชหนุ่มทาง @moneycoach4thai นะครับ
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過62萬的網紅Bryan Wee,也在其Youtube影片中提到,...
「moneycoachdiary」的推薦目錄:
- 關於moneycoachdiary 在 Money Coach Facebook
- 關於moneycoachdiary 在 Money Coach Facebook
- 關於moneycoachdiary 在 Money Coach Facebook
- 關於moneycoachdiary 在 Bryan Wee Youtube
- 關於moneycoachdiary 在 Travel Thirsty Youtube
- 關於moneycoachdiary 在 スキマスイッチ - 「全力少年」Music Video : SUKIMASWITCH / ZENRYOKU SHOUNEN Music Video Youtube
- 關於moneycoachdiary 在 2022The Millionaire Fastlane-遊戲熱門攻略下載,精選在PTT/巴哈姆 ... 的評價
moneycoachdiary 在 Money Coach Facebook 八卦
DAY 8: ถ้าออม 10% เป็นเรื่องยาก ให้ลองแบบนี้
“ออมขั้นต่ำ 10% ของรายได้” สูตรนี้ดูเหมือนจะเป็นอัตราการออมที่ใครๆ น่าจะรู้กันอยู่แล้ว ว่ากันว่าถ้าออมได้ในระดับนี้ และลงทุนต่อยอดเป็น ก็น่าจะพอมีเงินสะสมทำให้มั่งคั่งในช่วงบั้นปลายได้
โดยส่วนตัวเวลาบรรยาย ผมก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “อย่างแย่ๆ คนเราควรออมได้ 10% และถ้าจะได้เร็ว ให้ดี ค่อยๆ เพิ่มไปให้ถึงระดับ 20% รับประกันแบบนี้ รวยแน่!”
แต่ก็นั่นแหละครับ โลกเรา “หลักการ” กับ “ความเป็นจริง” มักจะเป็นอะไรที่ไม่ตรงกัน
ในชีวิตจริงน้องๆ หลายคนเรียนจบออกมาพร้อมกับภาระในชีวิต บางคนยังเรียนไม่ทันจบ พ่อแม่ก็คอยพูดกรอกหูตลอดว่า เงินเดือนที่จะได้ในอนาคตต้องแบ่งมาช่วยอะไรที่บ้านบ้าง ค่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ส่งน้องเรียน ฯลฯ
ทีนี้เลยเป็นปัญหา ... เพราะหลักการดี แต่ทำไม่ได้ สุดท้ายมันทำร้ายให้คนที่พยายาม คนที่ตั้งใจใฝ่ดี รู้สึกท้อ
รู้ว่าคนเราควรเก็บ 10% เป็นอย่างน้อย แต่พอเอารายได้บวกลบกันแล้ว มันเหลือสะสมแบบนั้นไม่ได้จริงๆ ไอ้ครั้นจะให้ตัด 10% ไปก่อนใช้จ่าย แบบที่ใครเขาทำกัน อันนี้ก็รับประกันได้ว่าปลายเดือนได้หยิบยืมแน่ (ชีวิตแบบนี้ผมเคยเป็น)
หลังๆ เวลาผมสอนเรื่องเงิน ผมเลยปรับคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นเป็นว่า “เริ่มออมเท่าไหร่ก็ได้ ให้เริ่มเท่าที่รู้สึกดีต่อใจ”
จะออม 2% 3% หรือ 5% เท่าไหร่ก็ได้ ที่ทำให้รู้สึกว่าเราได้เหลืออะไรไว้ให้ตัวเองบ้าง หรืออย่างน้อยก็ยังมีเก็บกับเขาบ้าง
สมัยแก้หนี้ของครอบครัว ผมทำทั้งงานประจำ งานพิเศษ ทำเช้าถึงเย็น ทำทุกเสาร์อาทิตย์ ตอนอายุ 25 ปี ผมหาเงินได้เดือนนึงหลายหมื่นบาท แล้วก็จ่ายหนี้ไปหมด ไม่เหลือเก็บเลย เหลือบมองหลักการ 10% ดูแล้วไม่น่าจะเก็บได้ เลยไม่เก็บแม่งเลย สุดท้ายการไม่ออมเลย ส่งผลต่อความรู้สึกตัวเองพอสมควร เหมือนเราใช้ชีวิตทั้งเดือนหาเงินให้คนทั้งโลก ยกเว้นตัวเอง (การเก็บออมเขาถึงอีกอย่างว่า “การจ่ายให้ตัวเอง”)
หลังจากนั้นเลยเปลี่ยน ไม่รู้แหละ เงินรายได้มากน้อยแค่ไหน จะต้องเก็บ 3% ของเงินที่หาได้ ส่วนต่างชำระหนี้ที่เหลือ ค่อยไปคิดต่อยอดเอาว่าจะหาที่ไหนมา
สำหรับบางคน หากเงินออม 2-3% ก็ยังเป็นเงินที่เยอะอยู่ เราอาจจะกำหนดเป็นตัวเลข 200, 300 หรือ 500 เท่าไหร่ก็ได้ครับ หรือใครหาเงินได้รายวัน ลองหักให้ตัวเองวันละ 10-20 บาทก็ได้ ตัวเลขไหนทำให้เรารู้สึกดีว่า “เออ เว้ย ก็มีเงินเก็บกับเค้าเหมือนกันนะ เอาตัวเลขนั่นแหละ” ขออย่างเดียวทำต่อเนื่อง ห้ามหยุด ห้ามเลิก ทำให้สม่ำเสมอ อันนี้คือหัวใจสำคัญที่สุด
(แหม่ ... ตัวเลขก็ให้กำหนดเองแล้ว เอาเท่าที่ดีต่อใจแล้ว สู้หน่อยสิวะ!)
เงินเก็บน้อย แต่ถ้าเก็บสม่ำเสมอได้ มันอาจยังไม่ได้ทำให้เรารวยหรอกครับ แต่มันจะเริ่มขยับเขยื้อนสิ่งที่มองไม่เห็น นั่นก็คือ ความรู้สึก “ภูมิใจ” และ “เชื่อมั่น” ในตัวเอง
คนเราออมเงินได้ถึงหลักพัน สมองก็จะเชื่อและมั่นใจต่อว่าหลักหมื่นเป็นไปได้
พอออมหลักหมื่นได้ มันก็กล้าคิดกล้ามองไปที่หลักแสน
พอออมหลักแสนได้ คราวนี้มันไม่หยุดแล้ว มองต่อไปหลักล้านแน่นอน
ทั้งหมดเริ่มต้นที่ความรู้สึก “ดีต่อใจ” ที่เราสร้างให้ตัวเองเป็นประจำทุกวัน ทุกเดือน เพราะความสม่ำเสมอนี่แหละ คือ ตัวช่วยสะสม “ความภูมิใจ” และ “ความเชื่อมั่น” ที่จะทำในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น และนำเราไปสู่ความสำเร็จทางการเงินได้
2 ปีที่ผ่าน ผมทำโครงการแก้หนี้ที่ชื่อว่า “อภินิหารความรู้การเงิน” เป็นโครงการให้คำแนะนำในการแก้หนี้ ที่ไม่มีเงินเข้าไปให้กู้ แต่เน้นเรื่องของการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน
ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่เจอและให้คำปรึกษากัน ผมจะบังคับทุกคนให้หักออมเดือนละ 500 บาท คิดเป็น 3.33% ของรายได้ (ไม่ถึงเกณฑ์ออม 10%) ตอนบังคับหักเงิน ทุกคนก็จะงงกันนิดหน่อยว่าฉันเป็นหนี้นะ จะให้ออมอีกเหรอ แต่พอเห็นว่า 500 บาทต่อเดือน เป็นตัวเลขที่พอไหวเมื่อเทียบกับรายได้ ก็เลยยอม ระหว่างนั้นก็ให้คำปรึกษาแก้หนี้กันไป
โครงการนี้ใช้เวลา 1 ปี หลังจบโครงการหลายคนมีภาระหนี้ลดลง สภาพคล่องดีขึ้น เปิดสมุดบัญชีเงินฝากขึ้นมา (ตอนนั้นเราให้เลือกตัดฝากประจำ กับกองทุนตราสารหนี้) มีเงินกันคนละ 6 พันกว่าบาท ตอนเห็นสมุดบัญชีทุกคนดูตกใจ แต่ก็ดีใจกันมาก
พอได้คุยหลายคนบอกว่า ทำงานมานานไม่เคยมีเงินออม เพราะเชื่อว่าตัวเองคงออมไม่ได้ หรือถ้าออมได้ก็คงน้อย ไม่น่าจะเรียกว่าเงินออม เลยไม่ได้เริ่มสักที ไม่คิดว่าที่หักไปแต่ละเดือนจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีแบบนี้
นี่แหละ! พลังทวีของความรู้สึก ดีต่อใจ!
เริ่มเท่าที่เริ่มได้ เริ่มเท่าที่ทำไหว ให้รู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้ทำ แต่ทำต่อเนื่องไม่หยุด ไม่เลิก สุดท้ายผลลัพธ์ก็น่าชื่นใจ และส่งพลังให้เราเดินหน้าต่อ ทำต่อได้
นอกจากนี้ บางคนอาจเร่งสปีดให้กับเงินออมก้อนเล็กๆ ของตัวเอง ให้มันสร้างโอกาสให้เรามากขึ้นได้ (ก็ไหนๆ ออมได้น้อยแล้ว ก็ต้องอาศัยตัวช่วยทำให้มันโตเร็วขึ้นสิ”
ลูกศิษย์ผมหลายคนเลือกนำเงินออม 200-300 บาทต่อเดือน ไปซื้อสลากออมทรัพย์ (ประมาณว่าทุนน้อย แต่โชคเรามาเต็ม 555) ในขณะที่บางคน ก็เลือกบวกไปกับกองทุนรวมหุ้น (ทั้งไทยและต่างประเทศ) หวังให้เงินน้อยเติบโตไปกับบริษัทชั้นนำ ก็ในเมื่อเงินเราน้อย เราก็ต้องหาคนช่วยทำให้เงินเราโตเร็วขึ้น และสมัยนี้กองทุนรวมหุ้นบางกองทุน เริ่มต้นลงทุนแค่ 500 บาท ในขณะที่บางกองทุนนั้น “ไม่มีขั้นต่ำ” จะลงทุนเท่าไหร่ก็ได้
พอถามว่าลงทุนกองทุนหุ้น ไม่กลัวความเสี่ยงเหรอ บางจังหวะหุ้นลง เราก็ขาดทุนได้นะ หลายคนตอบกลับมาว่า “การไม่คิดทำอะไรให้ชีวิตดีขึ้น ไอ้แบบนั้นต่างหาก คือ ชีิวิตที่ขาดทุน” ... คมชะมัด!
ในโลกการเงินส่วนบุคคล ประกอบด้วยคำสำคัญสองคำ นั่นคือคำว่า “สภาพคล่อง” และ “ความมั่งคั่ง” โดยมีสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสองฝั่ง คือ “เงินออม”
ใครที่เริ่มเก็บเริ่มออมและเกิดเป็นการสะสม อันนี้ก็พอจะบอกได้ว่า คนๆนั้นเป็นคนที่มีสภาพคล่องที่ดี และเมื่อมีสภาพคล่องที่ดี มีการสะสมต่อเนื่อง สภาพคล่องส่วนล้น (แม้จะล้นแค่เดือนละ 200 บาท) ก็จะสะสม สั่งสม กลายเป็น “ความมั่งคั่ง” ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของปลายสะพาน
คนเรามีสิทธิเลือกที่จะอยู่บนโลกฝั่งไหนก็ได้ ถ้าคุณเลือกอยู่ฝั่งสภาพคล่อง คุณก็จะอยู่ในโลกที่การเงินหมุนวนไปไม่รู้จบ และใช้ชีวิตอยู่กับคำถาม “เงินไม่พอทำยังไงดีี” “เงินไม่พอใช้ หยิบยืมที่ไหนดี” หรือคุณอยากจะเลือกอยู่ฝั่งความมั่งคั่ง ที่มีอีกชุดคำถามในหัว นั่นคือ “มีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ฉันควรจะเอาไปทำอะไรดี”
คุณสามารถเปลี่ยนโลกการเงินที่คุณอยู่ได้ง่ายๆ ด้วยการเริ่ม “ออม” ครับ (สร้างสะพานย้ายจากโลกสภาพคล่องไปโลกความมั่งคั่ง) ออมเท่าไหร่ก็ได้ เท่าที่รู้สึกดีต่อใจก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยับไป 10% ตามเกณฑ์ พอทำได้ ก็ค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นไปอีกเพื่อการสะสมความมั่งคั่ง
“เริ่มเหลือ เริ่มเหลือ” ดีต่อใจเท่าไรเริ่มเลยตั้งแต่วันนี้นะครับ
เลิกอ้างได้แล้ว ว่าเงินน้อย
โค้ชหนุ่ม
08-01-2021
#Day8 #MoneyCoachDiary #ถ้าออม10เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องยาก
moneycoachdiary 在 Money Coach Facebook 八卦
เราจะผ่านเรื่องร้ายๆ ไปด้วยกัน ...
ปี 2563 กำลังจะผ่านไป โดยส่วนตัวผมมองว่าปีนี้เป็น “ปีแห่งความสูญหาย” เพราะกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต รวมถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่คิดไว้ ตั้งใจจะทำ แทบไม่ได้ทำเลย เนื่องจากสภาพการณ์ไม่เอื้ออำนวย
ตอนต้นปีผมวางแผนจะทำโครงการอบรมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลให้กับองค์กรทั่วประเทศ เพื่อจะได้นำเรื่องการจัดการเงินมาปฐมนิเทศน์ให้กับพนักงานใหม่กัน ตั้งใจทำตลอดทั้งปีควบคู่ไปกับโครงการอภินิหารความรู้การเงิน (ให้คำแนะนำให้การแก้ปัญหาหนี้) ที่ทำติดต่อกันมา 2 ปี วางแผนทุกอย่างไว้เสร็จสรรพ พอจะเริ่มเท่านั้นแหละ ล๊อคดาวน์! ไม่ได้ทำอะไรกันเลย
ตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา คำถามการเงินถาโถมเข้ามาทั้งทางแฟนเพจ อีเมล์ และไลน์ ชนิดตอบยังไงก็ไม่ทัน ไม่นับรวมองค์กรต่างๆ ที่เชิญบรรยายในหัวข้อยอดฮิต นั่นคือ “การบริหารจัดการเงินในช่วงโควิด” ที่ผมเองมักจะบอกทุกทีว่า เราต้องจัดการเงินให้ดีตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะช่วงโควิด
เหตุผลที่การลุกลามของโควิด ส่งผลกระทบกับการเงินอย่างหนักหน่วง ก็เพราะพิษภัยต่อสุขภาพ ทำให้เราทำกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจกันไม่ได้ พอล๊อคดาวน์ หลายองค์กรก็มีการปลดคน ลดคน ลดค่าแรง ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ รายได้ที่สูญหายไป ไม่ว่าจะเพียงบางส่วน (ลดเงินเดือน) หรือทั้งหมด (Lay off)
ประกอบกับก่อนหน้านี้ ประเทศไทยของเรามีตัวเลข “หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี” สูงขึ้นเรื่อยๆ เราก่อหนี้กันหนัก โดยไม่กังวลอะไร แถมหนี้ที่ก่อยังเป็นหนี้บริโภคเสียแยะ วันที่เรายังมีรายได้ การมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนทุกเดือน อาจไม่ได้ทำร้ายเรามากนัก เพราะต่อให้มีหนี้ก็ยังพอกัดฟันผ่อนไหว แต่พอรายได้หายไป เงินก็จะเริ่มไม่พอกินใช้ และส่งผลกระทบหนักหน่วง
ก่อนเกิดโควิด พนักงานในหลายองค์กรที่ผมไปบรรยาย เคยพูดติดตลก เห็นการจัดการเงินเป็นเรื่องไม่สำคัญ ก็ไม่เห็นต้องคิดอะไร เพราะยังไงสิ้นเดือนก็มีรายได้เข้ากระเป๋า แถมบางที่ยังมีค่าล่วงเวลา (OT) และมีคอมมิชชั่น เกือบเท่าๆ รายได้ ก็เลยสร้างภาระหนี้ไว้เกินเงินเดือนไปไกลมาก
“เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ โอทีเอาไว้แดก” พวกเขาบอกกับผมอย่างนั้น
พอวันที่เกิดล๊อคดาวน์ทีนี้เลยเข้าใจ เพราะเมื่อไม่มีทั้งโอทีและคอมมิชชั่น แถมเงินเดือนยังมาถูกลดไปอีก ทีนี้เลยเหนื่อยเลย
ช่วงล๊อคดาวน์เป็นช่วงเวลาที่ผมทำงานหนักมาก ตอบคำถามทางอีเมล์ยังไงก็ไม่ทัน เลยตั้งใจไว้ว่าจะจัดรายการมันนีโค้ชพบประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ปีนี้จัดไป 76 EP)
ทุกครั้งที่จัดรายการจะมีคำถามกระหน่ำกันมาจากทุกสารทิศ ตอบกันแทบไม่ทัน โชคดีที่มีทีมลูกศิษย์มาช่วยตอบ ทำให้รายการนี้พอจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนที่แวะมาทิ้งคำถามไว้ได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นการสูญหายไปของรายได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสมการทางการเงิน เพราะคนเราต้องมีรายได้ก่อน มันถึงจะมีตัดออม จัดสรรไว้ใช้จ่าย และมีเงินคงเหลือ แต่พอสารตั้งต้นหาย คราวนี้เลยไปไม่เป็นกันเลย
ที่น่าหนักใจที่สุดก็คือ หลายคำถามที่ถามเข้ามา เป็นคำถามที่ไม่สามารถหาทางออกได้ในระยะเวลาอันสั้น ชนิดที่โค้ชจ่ายยา แล้วจะรักษาอาการได้ในทันที แต่มักเป็นคำถามที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักหน่วงของเจ้าของปัญหา ชนิดที่อยู่เฉยๆ ไม่มีทางจะผ่านปัญหาไปได้ ต้องหาอะไรทำเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่ม ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ และที่แย่ก็คือ ใช่ว่าพยายามไปแล้ว โค้ชจะรับรองผลได้ว่า ถ้าทำแล้ว จะสามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้
สถานการณ์ที่ใครหลายคนเจอในปี 2563 เหมือนกันกับที่ผมเคยประสบในปี 2540 เลยครับ
คือ หนักหน่วง ยืดเยื้อ จนทำให้ตั้งหลักตั้งตัวขึ้นมาใหม่ได้ยาก ติดลบอยู่แล้วก็ต้องกู้เพิ่มไป เพราะรายได้หมุนเข้ามือไม่ทัน ต้องพยายามหาทางตัดวงจรเหล่านี้ออกจากชีวิตเพื่อเริ่มต้นใหม่ ซึ่งต้องบอกเลยว่าใช้เวลาอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะพาเราผ่านพ้นวิกฤตในช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ ไม่ใช่เรื่องของตรรกะ ความรู้ หรือความพยายาม แต่มันคือ “พลังใจที่แข็งแกร่ง” ที่มากพอจะทำให้เรายืนหยัดสู้กับปัญหาในระยะยาวได้
นอกเหนือไปจากความรู้การเงินที่ผมแนะนำให้กับทุกคนได้ เคล็ดลับที่พาชีวิตผมผ่านจุดเลวร้ายมาได้ ก็คือ สิ่งนี้จริงๆ ครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับพ่อแม่ และแฟน ในวันที่ครอบครัวล้มละลายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็คือ “เราจะรอด เราจะมีชีวิตที่ดี” แม้วันนั้นจะมองไม่เห็นทาง แต่ผมไม่เคยหยุดคิดที่จะพาชีวิตพ้นจากปัญหา (บางครั้งพูดไป คนใกล้ตัวเองก็ยังไม่เชื่อ)
มีเป้าหมายไว้ไกลๆ พอให้ชีวิตได้ฝันได้หวัง ที่เหลือมองหาแค่ “ไฟส่องตีน” มีทางไหนให้ลองทำ ลองสู้ ลองดูทุกทาง ไม่คิดมาก ไม่เลือกเยอะ ถ้ามันไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้ทำร้ายใคร เล็กใหญ่แค่ไหน ลองทำดู
สอนพิเศษ ขายประกัน นำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย งานฟรีแลนซ์ตามโรงงาน ธุรกิจเครือข่าย เปิดบริษัทที่ปรึกษา บริษัทฝึกอบรม ฯลฯ อะไรที่เห็นทางไป ไม่คิดมาก คว้าไว้หมด
สุดท้าย “โอกาสมากับผู้คน” ครับ ถ้าเราไม่หยิบจับทำอะไรเลย รับประกันว่าเราจะไม่ได้เจอคนที่จะพาเราไปต่อ จะไม่เจอไฟฉายกระบอกใหม่ที่ช่วยส่องทางเดินต่อให้กับเราต่อไปเรื่อยๆ
คนเรายังไม่ต้องผ่านพ้นปัญหาได้ทั้งหมดหรอก แค่รับรู้ได้ว่า “มันดีขึ้น” “แย่น้อยลง” “สบายขึ้นบ้าง” มันก็ช่วยเติมกำลังใจ เพิ่มแรงขับให้มากขึ้น เดินได้เร็วขึ้น หรือจะวิ่งก็ยังไหว
จากปี 2540 ที่เจอกับปัญหา 8 ปีต่อมาผมพ้นน้ำ และมีอิสรภาพการเงินในอีก 5 ปีถัดมา ทุกอย่างมันเร็วขึ้น เพราะสมองเราถูกพัฒนามาต่อเนื่อง ร่างกายเราพร้อมที่จะทำงานหนักต่อเนื่องได้โดยไม่เหนื่อย คอนเน็คชั่นหรือสายสัมพันธ์ที่เราสะสมไว้ตลอดทาง ช่วยให้เรามีเครื่องผ่อนแรงมากขึ้น ทำงานเท่าเดิม แต่ได้ผลลัพธ์มาก
และที่สำคัญ การตั้งใจทำอะไรในวงการใดวงการหนึ่งนานพอ สร้างและสั่งสมชื่อเสียงที่ดีไว้ต่อเนื่อง จะดึงดูดตัวช่วยจากทุกสารทิศ ทั้งโบก ทั้งพัด ทั้งสะบัด ทั้งเร่ง ให้เราวิ่งเข้าเส้นชัยเร็วขึ้น โดยไม่สนใจเลยว่า วันนี้คุณอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของคนทั่วไปมากแค่ไหน (วันที่ผมติดลบ ผมถือว่าตัวเองอยู่ต่ำกว่าจุดปล่อยตัวเสียด้วยซ้ำ)
ทั้งหมดเริ่มจากความรู้สึก “รักชีวิต” ตัวเองและคนรอบข้าง และสร้าง “พลังใจ” ให้ตัวเองสู้กับปัญหาได้อย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ชนะ
สู้แล้วจะผ่านหรือเปล่า ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าไม่สู้ คุณไม่มีทางผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปแน่ๆ คนที่เคยสู้กับผมในปี 40 แล้วสุดท้ายปล่อยมือกันไป คือ หลักฐานที่ดีว่าคนที่ปล่อยชีวิตให้ว่ายตามวิกฤต โดยไม่คิดจะทวนกระแส ไม่มีอะไรดีขึ้นจริงๆ
ปีหน้า 2564 ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมจึงได้แต่ภาวนา ขอให้ทุกคนที่เจอกันผ่านในทุกช่องทาง รักชีวิตตัวเองและครอบครัวให้มากๆ เมื่อเจอปัญหาอย่าหมดหวัง เรียกพลังใจออกมาทุกครั้งที่อยากจะยอมแพ้ มีก๊อกสอง ก๊อกสาม สี่ ห้า ไม่มีวันหมด
แม้ปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด แต่ถ้าคุณสู้ อีก 5 ปีจากนี้ คุณอาจจะได้เจอชีวิตการเงินที่ดี และเมื่อถึงวันนั้น คุณจะย้อนกลับมาขอบคุณปี 2563 ที่ทำให้คุณเปลี่ยนแปลง และช่วยดึงศักยภาพขั้นสูงสุดในชีวิตคุณออกมา และเมื่อถึงวันนั้น ชีวิตการเงินคุณจะไม่กลับมาตกต่ำอีกแล้ว เหมือนกับผมในปี 2563 นี้
ขอพลังใจจงสถิตอยู่กับคุณตลอดปี 2564
เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ
โค้ชหนุ่ม
31-12-2020
#Day1 #MoneyCoachDiary #เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน #TheMoneyCoachTH
moneycoachdiary 在 2022The Millionaire Fastlane-遊戲熱門攻略下載,精選在PTT/巴哈姆 ... 的八卦
โลกนี้มีเป็นล้านวิธีที่จะรวย สิ่งสำคัญ คือ คุณตั้งใจจะไขว่คว้ามันจริงหรือเปล่า #โค้ชหนุ่ม #MoneyCoachDiary #TheMoneyCoachTH #ทำยังไงถึงจะรวย. ... <看更多>