ความปลอดภัยในการบริโภค "แอสปาแตม" สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล
(มีนักข่าวจะมาขอสัมภาษณ์วันนี้ เกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยของแอสปาแตม เลยหาข้อมูลมาสรุปไว้เผื่อเป็นประโยชน์)
ปัจจุบัน กระแสการบริโภคอาหารที่ปราศจากน้ำตาลทราย (sugar free) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และ แอสปาแตม (aspartame) ก็เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลตัวหนึ่ง ที่นิยมนำมาใส่ในอาหารและเครื่องดื่มแทบจะทุกชนิด ยกเว้นแต่พวกเบเกอรี่ ขนมอบ เพราะมันจะสลายได้เมื่อถูกความร้อนสูง และจะสูญเสียความหวานไป
แอสปาแตม ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1965 และผ่าน อ.ย. ของสหรัฐอเมริกาในปี 1981 โดยมันมีโครงสร้างทางเคมีเป็น เมทิลเอสเทอร์ (methyl ester) ของไดเปปไทด์ระหว่างกรดแอสปาร์ติกและฟีนีลอะลานีน (aspartic acid/phenylalanine dipeptide)
แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำตาลจริง แต่มีความหวานเหมือนกับน้ำตาลทราย (ซูโคลส) แต่จะหวานคาปากนานกว่า และมีระดับความหวานสูงกว่าน้ำตาลทราย ถึง 180-200 เท่า ดังนั้น แม้ว่าจริงๆ แล้วมันจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ปริมาณที่ใส่ลงไปในอาหารให้เกิดความหวานนั้น ใช้เพียงแค่เล็กน้อยก็หวานแล้ว จึงมักจะถือกันว่า แทบจะไม่ต้องนับแคลอรี่ที่แอสปาร์แตมให้กับอาหารนั้น
#ปริมาณที่กินได้ต่อวัน
สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคแอสปาร์แตมนั้น มันเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ได้รับการทดสอบอย่างเข้มข้นมากที่สุดแล้วตัวหนึ่ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์จากองค์กรด้านอาหารและยาทั่วโลกกว่า100 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทย
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารโลกและองค์การอนามัยโลก (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA)) รวมทั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป (the European Commission's Scientific Committee on Food) ได้กำหนดให้ระดับของการบริโภคแอสปาร์แตมต่อวันไว้ที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่ อย. ของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 50 mg/kg นั้นคือ ถ้าคนที่น้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตขนาด 355 มิลลิลิตร ที่ใส่แอสปาร์แตมไป 0.18 กรัม ก็จะดื่มได้ถึง 21 กระป๋องต่อวัน !
#ผลต่อน้ำหนักตัว
มีรายงานตีพิมพ์ในปี 2017 ในวารสาร Canadian Medical Association Journal (CMAJ) ที่รีวิวทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้แอสปาร์แตม บริโภคแทนน้ำตาลทราย สรุปว่าแอสปาร์แตมสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ และลดน้ำหนักตัว ของทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ (สนใจรายละเอียด อ่านได้ที่ https://www.cmaj.ca/content/189/28/E929)
#ผลต่อระดับสารในร่างกาย
มีรายงานในปี 2018 ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ที่รีวิวงานวิจัยถึงผลกระทบทางเมตาบอลิซึมจากการบริโภคแอสปาร์แตม ก็ยืนยันว่า มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน คลอเรสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ ปริมาณแคลอรี่ที่่ร่างกายได้รับ หรือน้ำหนักตัว แถมยังช่วยเพิ่มระดับของ HDL (high-density lipoprotein หรือคลอเรสเตอรอลตัวที่ดีต่อร่างกาย) อีกด้วย (สนใจรายละเอียด อ่านได้ที่ https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/10408398.2017.1304358)
#ผลต่อมะเร็ง
มีหลายบทความรีวิว ที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างแอสปาร์แตมกับมะเร็ง ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางอาหารของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยระบุว่าแอสปาร์แตมนั้นปลอดภัยต่อการบริโภค
#อันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคPKU
แต่แอสปาร์แตมก็มีอันตรายต่อคนบางคนได้ นั่นคือ คนที่เกิดมาเป็นโรคฟีนีลคีโตนูเรีย (phenylketonuria หรือ PKU) ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมที่ค่อนข้างหาได้ยาก โดยร่างกายจะไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนีลอะลานีนได้ และต้องควบคุมปริมาณอาหารที่มีฟีนีลอะลานีน ซึ่งก็ร่วมถึงแอสปาร์แตมด้วยนั่นเอง ... ดังจะเห็นได้ว่า ข้างของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ใส่แอสปาร์แตมเพิ่มความหวาน จะต้องมีคำเตือนสำหรับผู้ที่เป็นโรค PKU ไว้ด้วย
#ซูคราโลส
แถมนิดนึงว่า หลังๆ จะเริ่มเห็นอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนจากการใช้แอสปาร์แตม มาเป็นสารตัวอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย ได้แก่ ซูคราโลส (sucralose) ที่มีข้อดีกว่าแอสปาร์แตม ตรงที่ยังคงความหวานไว้ได้ แม้ว่าจะถูกนำไปให้ความร้อนสูงกว่าตาม แถมมีอายุการเก็บรักษาที่นานกว่าแอสปาร์แตมถึง 2 เท่า ในขณะที่ก็เป็นสารที่ได้รับการรับรองว่าสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัยเช่นกันครับ
สรุปๆ คือ แอสปาร์แตม เป็นสารทดแทนความหวานของน้ำตาลทราย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าปลอดภัยในการนำมาบริโภคในปริมาณปรกติ .. ส่วนที่ใครบอกว่ากินอาหารที่ใส่แอสปาร์แตมแล้ว ก็ยังคงอ้วนอยู่ดี อันนั้นคงต้องไปปรับพฤติกรรมการกินของแต่ละคนเองนะครับ
ข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Aspartame
Search
ผลต่อน้ำหนักตัว 在 4 เหตุผล ทำไมน้ำหนักไม่ลด & อ้วนขึ้น - YouTube 的八卦
... ผล มันเกิดจากอะไร? วันนี้ผมโค้ชเคจะมาพูดถึง 4 เหตุผล ที่ทำไม น้ำหนัก ... 12:25. Go to channel · ทำไมคุมอาหาร & ออกกำลังกาย กลับ ตัว บวมๆ พุงป่อง น้ำหนัก ไม่ลด? ... <看更多>