กรณีศึกษา Pizza Hut กับ The Pizza Company จากพันธมิตร สู่คู่แข่ง /โดย ลงทุนแมน
พิซซ่าฮัท (Pizza Hut) กับ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี (The Pizza Company)
พิซซ่าสองแบรนด์นี้ คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยมานาน
รู้ไหมว่า เดอะ พิซซ่า คอมปะนี
คือแบรนด์ที่แยกออกมาจาก พิซซ่าฮัท
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้ง
เรื่องเป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
พิซซ่าฮัท ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2501
โดยสองพี่น้อง แฟรงก์ และ แดน คาร์นีย์ ที่รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี พิซซ่าฮัท สามารถขยายสาขาเพิ่มได้ถึง 6 สาขา
การเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเริ่มนำระบบแฟรนส์ไชส์มาใช้ในปีต่อมา
โดยสองพี่น้อง จะเป็นผู้อบรมวิธีการบริหารร้านพิซซ่าให้แก่ผู้ซื้อแฟรนส์ไชส์ในเวลานั้นด้วยตนเอง
ในปี พ.ศ. 2511 หรือ 10 ปีหลังจากก่อตั้ง พิซซ่าฮัท เริ่มขยายสาขาไปต่างประเทศครั้งแรก โดยเริ่มต้นที่ประเทศแคนาดา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 เป๊ปซี่ โค อิงค์ ก็ได้เข้าซื้อกิจการพิซซ่าฮัทจากสองพี่น้องคาร์นีย์ และทำการขยายสาขาของพิซซ่าฮัทไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก
ต่อมา เป๊ปซี่ โค อิงค์ ได้ตั้งบริษัทชื่อ Tricon Global Restaurants เพื่อมาเป็นผู้บริหารกลุ่มธุรกิจอาหารของเป๊ปซี่ โค อิงค์ รวมถึงพิซซ่าฮัทด้วย
ซึ่งปัจจุบัน Tricon Global Restaurants ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท Yum! Brands, Inc บริษัทเจ้าของแบรนด์อาหารรายใหญ่ของโลก (เช่น KFC, Pizza Hut, Taco Bell)
ในส่วนของพิซซ่าฮัท ปัจจุบัน มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกจำนวน 18,703 สาขา ด้วยจำนวนสาขามากขนาดนี้ ทำให้พิซซ่าฮัท เป็นแบรนด์ร้านพิซซ่าที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในโลก
พิซซ่าฮัทเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน สัญชาติไทย ที่ชื่อว่าคุณ “William E. Heinecke”
หลายคนคงคุ้นเคยชื่อนี้กันดีอยู่แล้ว
เพราะคุณ William E. Heinecke ก็คือ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
หรือที่นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้จักกันในชื่อหุ้น MINT นั่นเอง
ปี พ.ศ. 2523 คุณ William ได้สิทธิ์มาสเตอร์ แฟรนไชส์ ในประเทศไทยของพิซซ่าฮัท และได้เปิดร้านพิซซ่าฮัทสาขาแรกที่พัทยา จังหวัดชลบุรี
ซึ่งเหตุผลที่เลือกพัทยาก่อน เพราะตอนนั้นคุณ William มองว่ามีทหารอเมริกันเข้ามาอาศัยอยู่กันมากเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามเวียดนาม
ผลคือ คุณ William คิดถูกจริงๆ
เพราะพิซซ่าฮัทสาขาแรก ได้การตอบรับเป็นอย่างดี
ทำให้เขาตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อ Tricon Global Restaurants เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์พิซซ่าฮัท เห็นว่าธุรกิจร้านพิซซ่าฮัทในประเทศไทยกำลังไปได้สวย Tricon จึงต้องการเอาพิซซ่าฮัท มาบริหารเอง
เรื่องนี้ถึงขนาดนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้ครอบครองแบรนด์พิซซ่าฮัทในประเทศไทย ก็คือ Tricon Global Restaurants
เมื่อไม่สามารถเป็นเจ้าของพิซซ่าฮัทต่อไปได้ บริษัทไมเนอร์ของคุณ William ก็เลยปั้นแบรนด์พิซซ่าแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเองเสียเลย
โดยใช้ชื่อว่า “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” และเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544
ซึ่งตอนนั้นหลายคนคิดว่าทุกคนจะหันไปทานพิซซ่าฮัท แต่จริงๆ แล้วทางไมเนอร์มีข้อได้เปรียบคือมีหน้าร้านของเดิมอยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนป้ายจากแบรนด์พิซซ่าฮัท เป็น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้ทันที
ในทางกลับกัน พิซซ่าฮัท ต้องมานั่งเปิดสาขาเองใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการนานมาก
และนั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของสงครามพิซซ่า ระหว่าง 2 ค่าย นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี มีจำนวนสาขาในประเทศไทยกว่า 532 สาขา และยังมีแฟรนไชส์อยู่ในต่างประเทศ เช่น คูเวต, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, จีน, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา
โดยผลประกอบการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี
พ.ศ. 2561 รายได้ 5,657 ล้านบาท กำไร 356 ล้านบาท
พ.ศ. 2562 รายได้ 6,072 ล้านบาท กำไร 269 ล้านบาท
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า รายได้ของ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป มาจากแบรนด์อาหารหลากหลายแบรนด์นอกเหนือไปจาก เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เช่น Bonchon, Sizzler, Swensen’s
ในส่วนพิซซ่าฮัท ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่แต่เดิมคือ Tricon Global Restaurants ที่ชนะคดีเครือไมเนอร์ ก็ได้ขายกิจการพิซซ่าฮัทในไทยให้แก่ บริษัท พีเอชแคปปิตอล จำกัด
ซึ่ง บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA
โดยปัจจุบัน บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด คือ บริษัทที่บริหารจัดการกิจการและให้สิทธิ์แฟรนไชส์ ร้านพิซซ่าฮัท ทุกสาขาในประเทศไทย
ผลประกอบการของ บริษัท พีเอชแคปปิตอล จำกัด
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 1,719 ล้านบาท ขาดทุน 29 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 1,903 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
โดยบริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด มองว่า ธุรกิจพิซซ่ายังมีโอกาสเติบโตอีกพอสมควร โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ยังมีสาขาพิซซ่าฮัท อยู่จำนวนไม่มากนัก
อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะได้รู้กันแล้ว
ว่าพิซซ่าสองแบรนด์ที่เราคุ้นเคยนี้เกิดมาจากความขัดแย้ง
และความขัดแย้งนั้น ก็ทำให้เกิดแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีกแบรนด์หนึ่ง
ย้อนกลับไปที่จุดนั้น
ถ้าถามว่าในวันนั้น Tricon และไมเนอร์ เลือกที่จะเป็นมิตรกัน แทนที่จะเป็นศัตรูกัน
ก็น่าคิดว่า ในวันนี้ตลาดพิซซ่าในประเทศไทย จะเป็นอย่างไร..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-แบบ 56-1 ปี 2562, บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Pizza_Hut
-https://en.wikipedia.org/wiki/Yum!_Brands
-https://en.wikipedia.org/wiki/The_Pizza_Company
-แบบ 56-1 ปี 2562, บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.thaipost.net/main/detail/12280
-https://www.puretravel.com/blog/2020/04/06/who-eats-the-most-pizza-in-the-world-the-answer-may-surprise-you/
-https://www.innovatravelperu.com/top-10-countries-where-we-eat-the-most-pizzas/
-http://www.thaismescenter.com
yum brands inc. 在 ลงทุนแมน Facebook 八卦
KFC X ลงทุนแมน
กรณีศึกษา กลยุทธ์ของ KFC ในการเป็นผู้นำตลาดฟาสต์ฟู้ดในไทย /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงไก่ทอด คนส่วนใหญ่จะคิดถึง KFC เป็นแบรนด์แรก
เพราะ KFC คือร้านขายไก่ทอดที่อยู่ในเมืองไทยมา 36 ปี ปัจจุบันมี 826 สาขาทั่วประเทศ
ซึ่งนอกจากเป็นร้านขายไก่ทอดที่มีสาขามากที่สุดแล้วนั้น
เวลานี้ KFC ยังเป็นร้านอาหารที่มีสาขามากสุดในเมืองไทย
ซึ่งพอมีสาขามาก ก็หมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลตามมาด้วย เช่นกัน
นอกจากจำนวนสาขาแล้ว KFC มีการปรับตัวและกลยุทธ์อะไร
ที่ทำให้เป็นอันดับ 1 ในตลาดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
ตลาดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทยหรืออีกชื่อคือ QSR ซึ่งย่อมาจาก Quick Service Restaurant
มีมูลค่าตลาดราวๆ 35,900 ล้านบาทโดยแบ่งอาหารเป็น 3 ประเภทคือ
1.ตลาดไก่ทอด มูลค่า 18,700 ล้านบาท
2.ตลาดพิซซ่า มูลค่า 9,000 ล้านบาท
3.ตลาดแฮมเบอเกอร์ มูลค่า 8,200 ล้านบาท
จากตัวเลขนี้ กำลังบอกกับเราว่าหากใครสามารถมียอดขายในตลาดไก่ทอดมากสุด
ก็มีโอกาสที่จะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในตลาดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย
โดย KFC มีส่วนแบ่งตลาดไก่ทอดมากกว่า 65%
สามารถเสิร์ฟอาหารได้มากกว่า 3.5 แสนมื้อต่อวัน
ซึ่งเรียกได้ว่าน่าจะมากสุดในบรรดาเชนร้านอาหารทั้งหมดในไทย
ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ KFC แข็งแกร่งเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย
จนคว้ารางวัล The Most Valuable Brands of the Year 2020 ของลงทุนแมน ไปครอง..
แล้วกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ KFC ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้
อย่างแรกสุดก็คือวิธีสร้าง Brand Love
รู้หรือไม่ว่า KFC ในบ้านเรามีแฟนเพจที่ติดตามใน Facebook ถึง 4.9 ล้านราย
อีกทั้งทุกๆ โพสต์นั้นได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งยอด Share และ Like จนถึง comment
ที่น่าสนใจคือไม่ว่าแฟนเพจจะชมหรือแนะนำปรับปรุงบริการ สอบถามโปรโมชัน
แอดมินจะบอกข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมกับโต้ตอบอย่างสุภาพ
จนถึงการมีสารพัดแคมเปญที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า KFC ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร
แต่เป็นเสมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่รู้จักมานาน
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ W&S market research ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดจากประเทศญี่ปุ่น
ทำการสำรวจ Share of Mind หรือ ส่วนแบ่งในใจลูกค้าในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย
ผลปรากฎว่า KFC มีส่วนแบ่ง 67% แซงหน้าอันดับสองอย่าง McDonald's ที่มี 24%
นั่นแปลว่าหากเราถามผู้บริโภค 100 คนว่ารักแบรนด์อะไรมากสุดในกลุ่มร้านฟาสต์ฟู้ด
จะมีคนรักแบรนด์ KFC ถึง 67 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา..KFC ในเมืองไทยก็มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
เพราะเดิมเจ้าของธุรกิจ KFC ในประเทศไทย คือบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Yum! Brands Inc. ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันมี KFC ถึง 24,104 สาขาทั่วโลก
ด้วยจำนวนสาขาที่มหาศาล ก็เลยทำให้ Yum! Brands Inc.
มองว่าบริษัทลูกที่ดูแล KFC ในแต่ละประเทศต้องรับภาระหนักเกินไป
ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการทำงานยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
จนถึงเรื่องการขยายสาขาใหม่ๆ ในแต่ละประเทศก็ต้องใช้เงินทุนของบริษัทเอง
เรื่องนี้ก็เลยทำให้บริษัทแม่ประกาศจะลดการบริหารร้านอาหารภายใต้ Yum ทั่วโลก
หนึ่งในนั้นก็คือแบรนด์ KFC ในประเทศไทย
ก็เลยเป็นที่มาของการขายแฟรนไชซีให้แก่ 3 บริษัท
ซึ่งจุดเริ่มต้น KFC ในไทยจะมีแฟรนไชซีแค่รายเดียวคือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยปัจจุบันบริหาร KFC 282 สาขา ซึ่งในอดีตจะขยายสาขาควบคู่กับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ
ต่อมาในปี 2016 บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ตัดสินใจขายแฟรนไชซีให้ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยปัจจุบันบริหาร KFC มากกว่า 200 สาขา
และสุดท้ายคือในปี 2017 ก็ได้ขายแฟรนไชซีให้แก่บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด
ที่ปัจจุบันบริหาร KFC มากกว่า 300 สาขา
พอเรื่องแบบนี้ ก็เลยทำให้แบรนด์ KFC จากเดิมที่แข็งแกร่งอยู่แล้วก็แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีก
เพราะนอกจากได้แฟรนไชซี มืออาชีพและมีเงินทุนแข็งแกร่ง
มาช่วยขยายสาขาอย่างรวดเร็วแล้วนั้น
ผลดีอีกอย่างก็คือ เวลานี้เมื่อไม่มีสาขาอยู่ในการบริหารตัวเอง
บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ก็เลยสามารถโฟกัสเฉพาะทางทำให้มีการสร้าง “แบรนด์ เซ็นเตอร์”
ที่จะมาดูแลบริหารแบรนด์ การตลาด และ QC คุณภาพสาขา KFC ทั่วประเทศไทย
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ทั้งการ QC ควบคุมรสชาติไก่ทอดและเมนูอื่นๆ การทำแคมเปญโปรโมชันให้ตรงใจลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องราคาขายให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า จนถึงการคิดค้นบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือปี 2019 ที่ผ่านมาทั้ง 3 แฟรนไชซีมีรายได้จากธุรกิจ KFC รวมกันมากกว่า 16,000 ล้านบาท
คำว่า 16,000 ล้านบาทนี้ ทำให้ KFC เป็นเชนร้านอาหารที่มียอดขายอันดับต้นๆในประเทศไทย
แล้วคู่แข่งจะก้าวตาม KFC ทันหรือไม่ ?
หลายคนอาจเห็นร้านไก่ทอดที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อย่าง Texas Chicken ของ ปตท.
หรือร้าน Bonchon ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กำลังขยายสาขา
แต่ก็ต้องบอกว่าด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และจำนวนสาขาที่เข้าถึงผู้บริโภค
ทำให้ทั้งสองเจ้านี้ยังถูก KFC ทิ้งห่างอยู่หลายช่วงตัว
เพราะ KFC ณ ตอนนี้มี 826 สาขา ซึ่งมากกว่าจำนวนสาขาของคู่แข่งทั้งสองเจ้ารวมกัน
และยังมีบริการดิลิเวอรี่ ไดร์ฟทรู พร้อมด้วยบริการล่าสุด “Self Pickup” ที่ลูกค้าสามารถสั่งออนไลน์ และเลือกเวลารับที่ร้านได้ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องต่อคิวหรือเสียเวลารอที่ร้านอีกต่อไป
พอมีสาขา และช่องทางการขายเยอะ ก็ทำให้ระบบ ดิลิเวอรี ของตัวเองมี Economies of Scale หรือได้เปรียบเชิงขนาด ซึ่งสามารถส่งอาหารได้ทั่วประเทศ ตั้งราคาได้ไม่แพง ไปจนถึงมีงบการตลาดที่มากกว่าแบรนด์อื่นๆ
และถ้าให้วันนี้ถามว่าอยากจะกินไก่ทอดจะนึกถึงอะไร?
ถึงจะมีชื่ออื่นมาท้าชิง
แต่คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็จะคิดถึง KFC เป็นแบรนด์แรกๆอยู่ดี
ทีนี้แล้วคู่แข่งที่แท้จริงของ KFC คือใคร?
เคยสังเกตบางไหมว่า ณ วันนี้ในศูนย์การค้าต่างๆ เกิดร้านอาหารใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย
อีกทั้งในยุคนี้ เรายังมีทางเลือกด้วยการกดสั่งอาหารผ่าน App food delivery
ปรากกฏการณ์นี้กำลังบอกกับเราว่า ณ วันนี้ 1 มื้ออร่อยของผู้บริโภคกำลังมีตัวเลือกมากมาย
ทุกแบรนด์ที่อยู่ในห้างหรืออยู่ใน App ต้องทำตัวเองให้โดดเด่นเพื่อแย่งชิง 1 มื้อผู้บริโภค
ซึ่งนั้นแปลว่าคู่แข่งคนสำคัญก็คือร้านอาหารทั่วประเทศที่เป็นตัวเลือกของผู้บริโภค
ที่ KFC ต้องพัฒนาเมนูอาหารและบริการของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อให้เวลาเราหิวจะนึกถึง KFC เป็นแบรนด์แรก และแบรนด์เดียว นั่นเอง..
References
-รายงานประจำปี บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-http://www.buffettcode.com/kfc-แฟรนไชส์
-Yum! Brands 2019 Annual Report
-W&S market research
yum brands inc. 在 ลงทุนแมน Facebook 八卦
รู้จัก Yum! Brands เจ้าของแบรนด์ KFC และ Pizza Hut /โดย ลงทุนแมน
เชื่อว่าคนไทยเกือบทุกคน ต้องคุ้นเคย และคุ้นชื่อ
ไก่ทอด KFC และ Pizza Hut กันอยู่แล้ว
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เจ้าของแบรนด์ KFC และ Pizza Hut คือบริษัทเดียวกัน
บริษัทนั้นชื่อว่า “Yum! Brands”
เรื่องราวของ Yum! Brands น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit
มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนจะมาเป็น Yum! Brands
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจาก PepsiCo
บริษัทเจ้าของน้ำอัดลมเป๊ปซี่ และขนมเลย์ ที่เราก็คุ้นเคยกันดี
ในช่วงปี 1977 ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกำลังได้รับความนิยมในสหรัฐฯ
ทำให้ PepsiCo ที่มีธุรกิจหลักคือผลิตเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว
เกิดสนใจและอยากที่จะรุกเข้าหาธุรกิจร้านอาหาร
PepsiCo เริ่มไล่ซื้อแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมาเป็นเจ้าของ
ซึ่งสามแบรนด์เด่นที่เข้ามาอยู่ในพอร์ตของ PepsiCo
คือ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell
แต่เมื่อทำธุรกิจนี้ไปได้ 20 ปี
PepsiCo ก็ตัดสินใจถอยออกมาจากวงการร้านอาหาร
เพราะอยากกลับไปโฟกัสธุรกิจหลักของตัวเองให้เต็มที่เหมือนเดิม
ทำให้ในปี 1997 ธุรกิจส่วนร้านอาหารของ PepsiCo
ถูกแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ มีชื่อว่า “Tricon Global Restaurants”
โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา
โดยที่มาของชื่อ Tricon ก็เพราะมี 3 แบรนด์หลักคือ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell
ทั้งสามแบรนด์ร้านฟาสต์ฟู้ดในเครือ Tricon Global Restaurants
ได้รับความนิยมมากขึ้น จนขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ
ในปี 2002 Tricon Global Restaurants ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “Yum! Brands”
และจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ภายใต้ชื่อบริษัท Yum! Brands, Inc.
หลังจากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้ง KFC, Pizza Hut และ Taco Bell
ก็เริ่มขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสหรัฐฯ และออกไปยังต่างประเทศ
โดยเฉพาะ KFC ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ในปี 2013 Yum! Brands มีร้านอาหารทั่วโลกรวมกันถึง 40,000 สาขา
และในประเทศจีน ร้านอาหารเครือ Yum! Brands เติบโตอย่างรวดเร็ว
จนต้องแยกเป็นอีกบริษัทเพื่อดูแลตลาดจีนโดยเฉพาะ
ปี 2016 Yum China Holdings จดทะเบียนแยกออกมาจาก Yum! Brands
โดยมีอิสระในการบริหารแบรนด์ในเครือ Yum! และทำตลาดด้วยตัวเองในจีน
ณ สิ้นปี 2019 Yum! Brands มีร้านทั่วโลก 50,170 สาขา แบ่งเป็น
KFC 24,104 สาขา
Pizza Hut 18,703 สาขา
Taco Bell 7,363 สาขา
ที่น่าสนใจก็คือ Yum! Brands บริหารร้านด้วยตัวเองเพียง 2% เท่านั้น
ที่เหลืออีก 98% คือร้านในรูปแบบ “แฟรนไชส์”
โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารร้านอาหารในแฟรนไชส์
เราจะเรียกว่า “แฟรนไชซี”
ซึ่งแฟรนไชซีจะมีหน้าที่บริหารร้านอาหาร และเป็นเจ้าของร้านเพียงเท่านั้น
ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ KFC, Pizza Hut หรือ Taco Bell แต่อย่างใด
โดย Yum! Brands จะเรียกเก็บส่วนแบ่งยอดขายประมาณ 5%
และค่าธรรมเนียมอื่นในการส่งเสริมแบรนด์จากแฟรนไชซี
ผลประกอบการ ปี 2019 ของ Yum! Brands, Inc.
รายได้ 176,585 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 40,826 ล้านบาท
โดยรายได้ทุก 100 บาท มาจาก
ยอดขายของสาขาที่ Yum! Brands บริหารเอง 28 บาท
รายได้จากส่วนแบ่งยอดขายจากแฟรนไชซี 48 บาท
ค่าธรรมเนียมอื่นที่เก็บจากแฟรนไชซี 24 บาท
ทีนี้ลองมาดูในประเทศไทย..
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Yum! Brands
ณ สิ้นปี 2019 ในไทยมีร้าน KFC, Pizza Hut และ Taco Bell รวมทั้งหมด 858 สาขา
แบ่งเป็น KFC 717 สาขา, Pizza Hut 140 สาขา และ Taco Bell 1 สาขา
โดยรูปแบบการดำเนินงานในประเทศไทย
ทุกสาขาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งหมด
โดยมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล และบริหารแบรนด์ ทั้ง KFC, Pizza Hut และ Taco Bell ในประเทศไทย
ส่วนหน้าที่การบริหารร้านค้าและการบริการภายในร้าน
เป็นหน้าที่ของแฟรนไชซี ที่ได้รับสิทธิ์บริหารร้านในประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น แฟรนไชซีที่บริหารร้าน KFC ทั้ง 717 สาขา ในไทย มี 3 กลุ่มบริษัท คือ
บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทเครือไทยเบฟ)
บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด (บริษัทเครือเซ็นทรัล)
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของเจ้าของแบรนด์ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell
ที่ต่อจากนี้ เราจะได้รู้ว่า ไม่ว่าจะเลือกกินอาหารร้านไหนจาก 3 ชื่อนี้
สุดท้ายแล้วเราก็กำลังเป็นลูกค้าของบริษัทเดียวกัน
บริษัทที่ชื่อว่า “Yum! Brands”..
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit
มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-Yum! Brands 2019 Annual Report.
-https://www.yum.com
-https://ir.yumchina.com/
-https://thestandard.co/who-owns-kfc-in-thailand/